วัดพระธาตุดอยคู่แก้ว ( พระธาตุกู่ไก่แก้ว )

  1. ที่ตั้ง: หมู่ 5 บ้านทุ่งหลวง ตำบลเมืองยาว อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง
  2. พิกัด : 18.256068, 215995
  3. เดือนที่เปิดให้บริการ : ทั้งปี
  4. ประวัติความเป็นมา

วัดแห่งนี้มีตำนานร่วมกับอีก ๒ แห่งนั้นคือ พระธาตุม่อนไก่แจ้และพระธาตุม่อนไก่เขี่ย ในเขตตำบลเมืองยาว อำเภอห้างฉัตรเช่นกัน เรื่องราวปรากฏในตำนานไก่ขาว ที่สัมพันธ์กับตำนานฤๅษี ๕ ตน กล่าวถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาถึงบริเวณ พลันนึกถึงแห่งนี้ เห็นเขา ๔ ลูกเรียงกัน พลันนึกถึงอดีตชาติที่เคยเกิดเป็นเจ้ามหาวงศ์แตงอ่อน ได้นำไก่มาแข่งขันที่เขาลูกหนึ่งคือ ดอยม่อนไก่แจ้ และที่ม่อน ตรงข้ามมีไก่แจ้ตัวหนึ่งขันแข่งท้าทาย แล้วคุ้ยเขี่ยหายไป เจ้าของไก่ก็หลบหนีหายไปยังเมืองลี้ เมื่อเล่าเสร็จ ก็นำเกศา ๔ เส้นมอบให้ฤๅษี ซึ่งต่อมาก็ไปบรรจุที่ดอยคู่ หรือดอยกู่ ๒ เส้น (ลูกละเส้น) เส้นที่ ๓ ไว้ที่ม่อนไก่แจ้เส้นที่ ๔ เอาไว้ที่ดอยม่อนไก่เขี่ย วัดแห่งนี้เจดีย์เป็น ๒ องค์ คือองค์น้องที่อยู่ด้านล่าง และองค์พี่อยู่ด้านบน

มีหลักฐานว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เดินทางมาบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุคู่แก้ว หรือกู่ไก่แก้ว อย่างต่ำ ๒-๓ ครั้ง จากหนังสือคร่าวซอของพระภิกษุท้าวสุนทรพจนกิจ ครั้งแรกคือ หลังจากที่ครูบาเจ้าศรีชัยกลับจากการต้องอธิกรณ์ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามกรุงเทพฯ ครั้งแรก ท่านได้นั่งรถไฟจากหัวลำโพงแวะมาลงสถานีรถไฟลำปางที่สบตุ๋ย และเดินทางมายังเมืองยาว ก่อนถึงเมืองยาวครูบาเจ้าศรีวิชัยได้แวะร่วมทำบุญที่วัดสองแห่งตามที่มีผู้นิมนต์ในเส้นทางผ่าน ได้แก่ วัดนาก่วมใต้ ๑๐๐ รูเปีย สำหรับยกช่อฟ้าพระวิหาร หลังจากนั้นครูบาเจ้าศรีวิชัยได้บูรณะ

“วัดเมืองยาว ลำปางใต้หล้า พระเจติยาก่อไว้หกสิบห้าเป็นตราเงินใช้ รอมร่ายหื้อเนอนาย แจ้ง รุ่งเช้า บ่ทันเถิงขวาย ทั้งเจ้าและนาย ม่านเงี้ยวต่องสู้”

เห็นได้ว่าคำคร่าวที่ยกมานี้ใช้คำว่า “พระเจติยา” “วัดเมืองยาว” แต่ไม่ได้ระบุชื่อเฉพาะว่าหมายถึงพระธาตุองค์ไหนที่ตั้งอยู่ในเขตตำบลเมืองยาวของอำเภอห้างฉัตร ซึ่งในเขตนี้มีผลงานของครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างไว้ถึงสี่องค์ ได้แก่ พระธาตุม่อนไก่เขี่ย พระธาตุม่อนไก่แจ้และอีกสององค์ที่พระธาตุดอยคู่แก้ว

เมื่อตรวจสอบกับหนังสือ “ตำนานครูบาศรีวิชัยแบบพิสดาร” ที่ปริวรรตโดยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กล่าวว่าหลังจากครูบาเจ้าศรีวิชัยพ้นโทษอธิกรณ์กลับจากกรุงเทพ ฯ

“ในพุทธศักราช ๒๔๖๓ นี้ ท่านได้สร้างพระธาตุดอยกู่แก้วเมืองยาว แขวงลำปาง เสี้ยง (หมดเงิน) วัตถุ ๖๐ รูเปีย แล้วกลับมาอยู่ลำพูน”

เมื่อพิจารณาจากระยะเวลาการไปเมืองยาวเกิดขึ้นหลังกลับจากการต้องอธิกรณ์ครั้งแรกเหมือนกัน และจำนวนเงินที่เอกสารสองฉบับระบุตัวเลขใกล้เคียงกันคือ ๖๕ กับ ๖๐ รูเปีย ดังนี้แล้ว จังเป็นที่แน่ชัดว่า ปริศนาของคำว่า “พระเจติยาเมืองยาว” ย่อมน่าจะหมายถึงพระธาตุดอยคู่แก้ว ซึ่งครูบาเจ้าศรีวิชัยได้มาสร้างปี ๒๔๖๓

นอกจากนี้แล้ว ยังพบหลักฐานที่ระบุถึงการเดินทางไปสร้างพระธาตุดอยคู่แก้วอีกครั้ง ประมาณ ปี ๒๔๖๔-๒๔๖๕ ภายหลังจากที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยรับหน้าที่ประธานการบูรณะวิหารพระเจ้าตนหลวง เมืองพะเยาแล้ว ดังข้อความที่ว่า

“เมื่อเสร็จจากพะเยา ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เดินทางกลับทางแจ้ห่ม ลำปาง ได้รับนิมนต์สร้างพระธาตุ-ดอยเต่า ต่อด้วยด้วยพระธาตุดงนั่ง ต่อด้วยวิหารอุโขต่อด้วยพระธาตุม่อนไก่แก้ว สลับกับขึ้นไปพะเยาเป็นช่วงๆ”

สอดคล้องกับประวัติความเป็นมาของเมืองยาวที่บันทึกโดยชุมชน ได้กล่าวว่าหลังจากที่ชาวบ้านได้ ตั้งบ้านเรือนอยู่ช่วงระยะหนึ่ง ภายใต้การอพยพมานำโดยท้าวแสนคำวงศ์ พ่ออุ้ยตัน พ่ออุ้ยซาว พ่ออุ้ยหนาน ตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๓๔๐ แล้ว อยู่ต่อมาชาวบ้านได้พบซากดินกี่ (อิฐ) เป็นเนินโบราณกระจายอยู่ตามเชิงเขา จึงได้ไปนิมนต์ครูบาเจ้าศรีวิชัยให้มาช่วยดำเนินการบูรณะฟื้นฟูวัดร้างในเมืองยาวแห่งแรกคือพระธาตุดอยคู่แก้ว

วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของชาญณรงค์ ศรีสุวรรณ ระบุพระธาตุดอยคู่แก้วสร้างในปี ๒๔๖๓ และจัดให้เป็นโบราณสถานรุ่นแรกในเขตจังหวัดลำปางที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยทำการบูรณะ

ในขณะที่ พระครูปลัดอุทินเทพ อติธมฺโม เจ้าอาวาสวัดป่าปงสนุก และเจ้าคณะตำบลใหม่พัฒนา อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ระบุว่าพระธาตุดอยคู่แก้ว สร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับพระธาตุม่อนไก่เขี่ย และพระธาตุม่อนไก่แจ้ ตั้งแต่ปี ๒๔๕๖ ก่อนที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยจะต้องอธิกรณ์

watpratad2_0.png watpratad3_0.png watpratad4_0.png