แหล่งท่องเที่ยวตำบลเมืองยาว


วัดม่อนไก่แจ้

  1. ที่ตั้ง: หมู่ 8 บ้านแม่ยามเหนือ ตำบลเมืองยาว อำเภอห้างฉัตร จ.ลำปาง
  2. พิกัด : 18.227211, 226389
  3. เดือนที่เปิดให้บริการ : ทั้งปี

ประวัติความเป็นมา                

                   พระธาตุม่อนไก่แจ้เป็นเจดีย์ที่กล่าวว่า บรรจุพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจำนวน 1 เส้น โดยอิงมาจากตำนานม่อนพญาแช่ ซึ่งกล่าวถึงการที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาที่เมืองกุกุฏนครที่สถิตของฤๅษี 5 ตน เมื่อพระองค์เสด็จมาเห็นเขา 4 ลูกเรียงกัน ก็นึกถึงอดีตที่เคยเสวยพระชาติเป็นเจ้ามหาวงค์แตงอ่อน ได้นำไก่มาแข่งขันที่เขาลุกหนึ่ง คือ ดอยม่อนไก่แจ้ และที่ม่อนตรงข้ามมีไก่แจ้ตัวหนึ่งขันแข่งท้าทาย แล้วคุ้ยเขี่ยหายไปพร้อมเจ้าของไก่ (ม่อนไก่เขี่ย) เมื่อเล่าเสร็จก็นำเกศา 4 เส้นมอบให้ฤๅษีต่อมาได้นำไปบรรจุที่ดอยคู่แก้วจำนวน 2 เส้น (ลูกละเส้น) เส้นที่ 3 ไว้ที่ม่อนไก่แจ้ เส้นที่ 4 เอาไว้ที่ม่อนไก่เขี่ยพระธาตุม่อนไก่แจ้สร้างขึ้น พ.ศ. 2404 ตรงกับปีวอก ตามคำพื้นเมืองเรียกว่าปีกดสัน โดยพระอาจารย์ชมพู หลังจากนั้นก็ร้างไปอีกช่วงหนึ่ง จนถึงยุคของครูบาเจ้าศรีวิชัย ในหนังสือคร่าวประวัติครูบาเจ้าศรีวิชัย แต่งโดยพระภิกษุท้าวสุนทรพจนกิจ ได้กล่าวถึงการเดินทางมาที่พระธาตุม่อนไก่แจ้ของครูบาเจ้าศรีวิชัย ว่าอยู่ในระหว่างช่วงที่เป็นประธานก่อสร้างวิหารเจ้าตนหลวง เมืองพะเยา และได้ใช้เส้นทางสายวังเหนือ-แจ้ห่ม ขึ้นๆ ล่องๆ ระหว่างพะเยา-ลำปางหลายรอบ กระทั่งเมื่อถึงเดือนกรกฎาคม ๒๔๖๔ ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้มาถวายพระธาตุม่อนไก่แจ้ หมดเงินค่าก่อสร้างไป ๔๕๕ รูเปีย ดังคำคร่าวนี้? คันเถิงรอดแล้ว เดือนเชฏฐกา ทสมา ๑๐ ค่ำ แรมแหล้ ท่านมาทาน ธาตุดอยไก่แจ้ อยู่แขวงเมืองยาวหัวน้ำ จังหวัดลำพาง ท่านชูช่วยค้ำ คึดร่ำสร้างเป็นทาน ปฐมะ เดือนสิบเริ่มการ ขึ้น ๙ ค่ำทาน เถิงแรมค่ำหน้า ๔ ร้อยรุเพีย กับ ๕๕ หมายบาญชีไว้แล้ว?คร่าวฉบับเดิมยังกล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยเสร็จภารกิจที่วัดม่อนไก่แจ้แล้ว ได้ลงไปบูรณะพระบรมธาตุดอนเต้า กับพระธาตุดอยน้อยที่เกาะคา

                    ในขณะที่ชื่อของพระธาตุม่อนไก่แจ้ ได้ปรากฏอยู่ในบัญชีที่ครูบาอภิชัยขาวปีสร้าง-บูรณปฏิสังขรณ์ว่ามีค่าก่อสร้างพระเจดีย์ดอยไก่แจ้ บ้านสันกำแพง ตำบลป่าเหียง อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง สิ้นเงิน ๑,๖๐๐ บาท หลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ภายหลังจากที่ครูบาศรีวิชัยได้มาวางรากฐาน พระธาตุม่อนไก่แจ้องค์นี้แล้ว ได้มอบหมายให้ครูบาอภิชัยขาวปีทำหน้าที่สืบสานงานสร้างเสริมต่อให้เสร็จ และครูบาเจ้าศรีวิชัยได้กลับมาทำพิธีถวายทานยกฉัตรพระธาตุอีกครั้ง

                  แต่พระครูปลัดอุทินเทพ อติธมฺโม เจ้าอาวาสวัดป่าปงสนุก และเจ้าคณะตำบลใหม่พัฒนา ผู้ฟื้นวัดร้างม่อนไก่แจ้ เล่าว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยมาบูรณะพระธาตุม่อนไก่แจ้เมื่อท่านอายุ ๓๕ ปี ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๕๖ ช่วงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมา มีหมู่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง จากอำเภอลี้ บ้านโฮ่ง และทุ่งหัวช้าง จำนวนหลายร้อยคนติดตามมาด้วย ในช่วงก่อสร้างมีบรรยากาศที่ครึกครื้น เพราะมีการเป่ากอย (เครื่อง-ดนตรีกะเหรี่ยงคล้ายปี่แน) คณะของครูบาเจ้าศรีวิชัยจะใช้วัดป่าปงสนุกเป็นสถานที่พักยั้งตระเตรียมเสบียงและวัสดุเครื่องมือก่อสร้าง บริเวณพระธาตุม่อนไก่แจ้ด้านบนมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ 1 ต้น เป็นสถานที่นั่งวิปัสสนาของครูบาเจ้าศรีวิชัยและครูบาอภิชัยขาวปี

                   ในขณะที่กรมศิลปากรระบุว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างพระธาตุม่อนไก่แจ้ปี 2469  พ.ศ. 2525 พระธาตุม่อนไก่แจ้ได้รับการบูรณะโดยพระอาจารย์อุชิน อรุโณ

ส่วนมูลเหตุที่ทำให้วัดม่อนไก่แจ้ยังไม่มีเจ้าอาวาสจำพรรษาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ พระครูปลัดอุทินเทพ อติธมโม เล่าว่าเนื่องมาจากสถานที่ดังกล่าวครูบาเจ้าศรีวิชัยเคยมานั่งกัมมัฏฐานค่อยข้างบ่อย และกำหนดให้เป็นเขตอภัยทาน ดังนั้นหากพระภิกษุที่มาจำพรรษาแล้วไม่ได้ฉันมังสวิรัติอย่างเคร่งครัดตามอย่างปฏิปทาของครูบาเจ้าศรีวิชัยมักอยู่ที่นี้ได้ไม่ค่อยนาน

 

watmonkaijae1_0.png watmonkaijae2_0.png watmonkaijae3_0.png

watmonkaijae4_0.png